ทำ SEO ง่ายๆ ด้วยการใส่ Title และ Description

SEO Title Description

เพื่อเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับ SEO หรือการค้นหาในหน้าแรกๆ “Meta” ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้ ซึ่งคำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันไปเยอะแยะ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ในบทความนี้ Meta จะหมายถึง Meta Title Tag และ Meta Title Description (หรือที่เราเรียกว่า Title Tag และ Meta Description) ที่อยู่ในสคริปต์หรือโค้ดบนเว็บไซต์ของคุณ

Meta นี้มีความสำคัญต่อการทำ SEO มากๆ เพราะ Google จะรวบรวมข้อมูลหน้าเว็บจากบนลงล่าง เพราะฉะนั้นการใส่ Target Keyword ที่ด้านบนของหน้าเพจจึงจำเป็นมาก เพราะมันจะช่วยให้ Google รู้ว่าหน้าเว็บไซต์ของคุณเกี่ยวกับอะไร เพื่อที่จะได้นำไปจัดทำ Index ได้อย่างถูกต้อง และกำหนดอันดับคำค้นหาที่เฉพาะเจาะจงได้ แถมยังช่วยดึงดูดให้มีคนคลิกเข้าชมเว็บไซต์ได้อีกด้วย

ดังนั้นเราจะพาคุณมารู้จักกับ Title Tag และ Meta Description กัน

Title Tag คืออะไร?

Title Tag คือ ข้อความที่บอกชื่อเรื่องของหน้าเว็บนั้น ๆ ซึ่งเป็นโค้ด HTML ที่จะช่วยบอกให้ผู้ใช้และ Search Engine เข้าใจว่าเนื้อหาเบื้องต้นเกี่ยวกับอะไร และจะปรากฏอยู่ใน 3 ตำแหน่งหลัก ๆ ได้แก่ เบราว์เซอร์, หน้า Search Engine Results (SERPS) และเว็บไซต์ภายนอก เช่น Facebook หรือ Twitter

ซึ่งการมี Title Tag นั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสให้มีผู้คลิกชมเว็บไซต์มากขึ้น คุณจึงควรสร้างชื่อ Title ให้มีความเกี่ยวข้องกับหน้าเพจ ถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มันจะส่งผลต่อการจัดอันดับน้อยลง แต่มันก็ยังคงมีความสำคัญต่อการพิจารณาว่าหน้าเว็บของคุณจะอยู่ในอันดับใด

ตัวอย่าง โค้ดในการเขียน Title Tag :

<head>

<title>ชื่อเรื่อง</title>

</head>

ตัวอย่าง การแสดงผล Title Tag :

หลักการเขียน Title Tag ให้ดึงดูดใจผู้ใช้

  • Google จะแสดงตัวอักษรสูงสุดได้แค่ 60 ตัวอักษรรวมช่องว่าง หากชื่อ Title ของคุณมีเยอะกว่านั้น ก็เสี่ยงที่ชื่อจะถูกตัดออกและแสดงแค่บางส่วนเท่านั้น
  • ใส่ Target Keyword ไว้ที่ส่วนแรกของ Title Tag และควรเลือกใส่คีย์เวิร์ดสำคัญ ๆ ลงไป รวมไปถึงสามารถใส่ชื่อแบรนด์ไว้ที่ส่วนท้ายได้
  • เครื่องหมาย Pipe และ Hyphen ( | และ – ) จะช่วยให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น
  • อย่าลืมใส่คำที่เกี่ยวข้องลงไปใน Tag จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ Google รู้ว่าหน้าเพจนั้นเกี่ยวกับอะไร และควรใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย
  • อย่าลืมใส่ Title และ Description Tag สำหรับทุก ๆ หน้าเพจบนเว็บไซต์ของคุณ หากไม่ทำเช่นนั้นจะทำให้เนื้อหาในเว็บไซต์ของคุณดูไม่น่าสนใจ

Meta Description คืออะไร?

Meta Description คือ อีกหนึ่ง HTML Tag ที่ช่วยอธิบายเนื้อหาของหน้าเว็บ ซึ่งผู้ใช้จะเห็น Tag เหล่านี้เป็นข้อความสั้น ๆ ที่ปรากฏอยู่ใต้ Title และ URL ในหน้า Search Engine Results (SERPS) ที่จะเป็นตัวโน้มน้าวให้ผู้ใช้คลิกเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ

ในตอนนี้ Meta Description ไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการจัดอันดับโดยตรงอีกต่อไป แต่มันก็ยังส่งผลทางอ้อมในการจัดอันดับอยู่ และถึงแม้ว่า Title Tag จะสั้นและจำกัดจำนวนตัวอักษร แต่ Meta Description ก็่เป็นสิ่งที่ช่วยบอกรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาที่คุณต้องการนำเสนอได้

ตัวอย่าง โค้ดในการเขียน Meta Description :

<head>

<meta name=”description” content=”คำบรรยายเนื้อหาเว็บไซต์”>

</head>

ตัวอย่าง การแสดงผล Meta Description :

หลักการเขียน Meta Description ให้ดึงดูดใจผู้ใช้

  • ความยาวของเนื้อหาที่แนะนำสำหรับการเขียน Meta Description คือ 920 pixels หรือประมาณ 155 ตัวอักษรรวมช่องว่าง
  • ไม่จำเป็นต้องใส่ Target Keyword แต่ถ้ามันเหมาะสมก็ให้ใส่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และควรเลือกใส่คีย์เวิร์ดสำคัญที่ตรงหรือใกล้เคียงกับคำที่ผู้ใช้ต้องการค้นหา
  • ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ Long-tail Keyword ที่เกี่ยวข้องกับคำ Target หลัก
  • ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อแบรนด์ หรือชื่อบริษัท ลงไปใน Meta Description เนื่องจากมันมีอยู่แล้วใน Title Tag และ URL
  • หลีกเลี่ยงการใช้สัญลักษณ์หรือการใช้คำที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงเครื่องหมาย Hyphen (-), Quotation (” “), Parenthesis ( ) และอื่น ๆ
  • ใช้เครื่องหมาย Ampersands (&) แทนการใช้คำว่า “และ” เพื่อประหยัดพื้นที่ตัวอักษร
  • บรรยายเนื้อหาที่ไม่ซ้ำใคร น่าสนใจ และเหมาะสมกับผู้ใช้ให้มากที่สุด

แล้วเราจะแน่ใจได้ยังไงว่า Title tag และ Meta Description ของเรามันได้ผลหรือเปล่า? วิธีที่ง่ายที่สุดคือการตรวจสอบอัตราการคลิกเข้าชมเว็บไซต์ (Click-through Rate : CTR) ใน Google Search Console คุณควรตรวจสอบ Meta Data เป็นระยะ ๆ แต่ไม่ควรปรับเปลี่ยนบ่อยจนเกินไป เพราะถ้าเปลี่ยนมันบ่อย ๆ คุณจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันได้ผลหรือไม่ และถึง CTR จะเป็นเมตริก (Metric) ที่มีประโยชน์ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น เวลาเฉลี่ยบนหน้าเว็บที่หากต่ำก็แสดงว่าเนื้อหาในเว็บไซต์อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้

สุดท้ายนี้แม้ว่า Title Tag และ Meta Description จะไม่ได้มีบทบาทหรือส่งผลโดยตรงที่ทำให้เว็บไซต์ติด SEO แต่มันก็มีความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของผู้ใช้และมีส่วนช่วยในการดึงดูดให้ผู้ใช้คลิกเข้าชมเว็บไซต์ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปนั่นเอง

Was this article helpful?

Related Articles