ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าคุณอัพโหลดไฟล์เว็บไซต์ไปแล้ว หรือแก้ไขอะไรไป และพอคุณไปกด Refresh แต่หน้าเว็บกลับไม่เปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ปัญหาแบบนี้เกิดได้จาก 3 สาเหตุด้วยกัน ดังนี้
1. Web Browser’s Cache
จะเรียกว่า Cache หรือ Temporary Internet Files ก็ได้ มันคือไฟล์ที่ตัวโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ของคุณเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อที่เวลาคุณเปิดดูเว็บเดิมซ้ำมันจะได้ไม่ต้องโหลดข้อมูลมาใหม่ทั้งหมด แต่สามารถดึงข้อมูลจากไฟล์ที่เก็บไว้ในเครื่องมาแสดงได้เลย. เว็บเบราว์เซอร์ส่วนใหญ่จะมีคีย์ลัดเป็น Ctrl + F5 สำหรับสั่ง Refresh หน้าเว็บไซต์โดยที่จะโหลดไฟล์จากอินเตอร์เน็ตมาใหม่ โดยไม่เรียกใช้ไฟล์ Cache ที่เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์
สรุป คือ ให้คุณลองกด Ctrl + F5 ที่หน้าเว็บไซต์ดู (อาจทำซ้ำสัก 2-3 ทีก็ได้) แต่ถ้าหน้าเว็บยังคงเหมือนเดิม แสดงว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ Cache ในเว็บเบราว์เซอร์แล้ว
2. อัพโหลดผิดที่ (กรณีเว็บไซต์ HTML)
อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือพลั้งเผลอของผู้อัพโหลดเอง คือ อัพโหลดไฟล์ไปวางผิดที่ หรือไม่ก็ไฟล์อันใหม่ที่อัพโหลดขึ้นมาไม่ได้เป็นไฟล์ชื่อเดิมทำให้มันไม่ได้ไปทับไฟล์เก่า เป็นต้น. จริงๆ ปัญหามันมีได้หลายรูปแบบมากๆ เพราะมันแล้วแต่ว่าจะพลาดไปในลักษณะไหน
วิธีตรวจเช็คง่ายๆ คือ ให้คุณลองลบไฟล์ของหน้าที่คุณต้องการแก้ไขดู แล้วลองไป Refresh หน้าเว็บไซต์ โดยใช้ Ctrl + F5 (ตามข้อที่ 1.) ถ้าคุณพบว่าหน้าเว็บไซต์ของคุณยังแสดงได้ตามปรกติละก็ แสดงว่าคุณทำผิดแบบในกรณีนี้แล้ว ส่วนวิธีแก้นั้น คือ คุณจะต้องตรวจสอบ path และชื่อไฟล์ ใหม่ดีๆ ว่าที่ถูกต้องต้องเป็นอะไร
3. Website’s Cache (กรณีพวก CMS)
กรณีนี้เป็นที่ Cache ของโปรแกรมเว็บไซต์เอง สำหรับวิธีแก้ คือ ต้องไปสั่ง Clear Cache ในระบบจัดการเว็บไซต์ของคุณ (ปรกติมันจะมีให้สั่งได้อยู่แล้ว) หรือบางทีอาจจะปิดการใช้งานระบบ Cache ไปเลยก็ได้ (ถ้าโปรแกรมเว็บไซต์ของคุณสามารถตั้งได้)