สำหรับการเริ่มใช้ Google Sheets นั้นไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด คู่มือนี้จะพาคุณไปรู้จัก วิธีการเริ่มต้นใช้งานและฟังก์ชันพื้นฐานที่ใช้งานบ่อย เช่น การเปิดใช้งานเอกสาร Sheets การล็อกหัวตาราง กรองข้อมูล และจัดรูปแบบตามเงื่อนไข เพื่อให้คุณเริ่มต้นใช้งานได้คล่องภายในไม่กี่ขั้นตอน ที่สำคัญคือ ไม่ต้องกดบันทึก เพราะ Google Sheets จะทำการเซฟให้อัตโนมัติทุกครั้งที่มีการแก้ไข
การเริ่มต้นเปิดใช้งาน Google Sheets
1.ไปที่ sheets.google.com โดยใช้บัญชี Google ของคุณ

2.คลิกปุ่ม + Blank spreadsheet เพื่อสร้างไฟล์ใหม่

3.คลิก Untitled spreadsheet มุมบนด้านซ้าย เพื่อเปลี่ยนชื่อ

4.คลิกเซลล์ (เช่น A1) แล้วเริ่มพิมพ์ข้อมูลได้เลย

3 ฟังก์ชันพื้นฐานที่ควรรู้
เพื่อให้ใช้งาน Google Sheets ได้คล่องยิ่งขึ้น มารู้จักฟังก์ชันพื้นฐานที่ทั้งง่ายและมีประโยชน์ ช่วยให้การจัดการข้อมูลสะดวก เป็นระเบียบ และทำงานได้รวดเร็วขึ้นในทุกวันทำงาน
Freeze (ล็อกหัวตารางหรือคอลัมน์)
ใช้สำหรับล็อกแถวบนสุดหรือคอลัมน์ซ้ายสุดให้แสดงอยู่กับที่ตลอดเวลา แม้จะเลื่อนหน้าจอดูข้อมูลด้านล่างหรือด้านขวา เหมาะกับการใช้งานตารางที่มีข้อมูลจำนวนมาก เช่น รายการสินค้า รายชื่อพนักงาน หรือรายงานยอดขาย ทำให้ไม่หลงหัวตารางและดูข้อมูลได้ต่อเนื่องง่ายขึ้น
1.ไปที่เมนู View

2.เลือก Freeze

3.เลือกแถวหรือคอลัมน์ที่ต้องการล็อก เช่น 1 row (ล็อกแถวบนสุด) หรือ 1 column (ล็อกคอลัมน์ซ้ายสุด)

Filter (การกรองข้อมูล)
ช่วยกรองข้อมูลเพื่อแสดงเฉพาะรายการที่ตรงตามเงื่อนไข เช่น ยอดขายเกิน 1,000 บาท หรือข้อมูลเฉพาะจังหวัด โดยไม่ลบข้อมูลเดิม และสามารถเปิด-ปิดการกรองได้ตลอด ช่วยให้การดูและวิเคราะห์ข้อมูลสะดวกและเป็นระเบียบยิ่งขึ้น
1.ใช้เม้าส์ลากคลุม เพื่อเลือกช่วงข้อมูลที่ต้องการกรอง

2.เลือกเมนู Data

3.คลิก Create a filter

4.คลิกไอคอนกรอง (▼) ที่หัวคอลัมน์

5.เลือกเงื่อนไขที่ต้องการ แล้วกด OK

Conditional Formatting (จัดรูปแบบอัตโนมัติ)
ช่วยเปลี่ยนสีหรือรูปแบบของเซลล์โดยอัตโนมัติ ตามเงื่อนไขที่คุณกำหนด เช่น ถ้าคะแนนต่ำกว่า 50 ให้พื้นหลังเป็นสีแดง หรือถ้าสถานะเป็น “ยกเลิก” ให้แสดงตัวอักษรสีเทา ช่วยเน้นข้อมูลสำคัญให้เห็นชัดเจนในพริบตา เพิ่มความอ่านง่าย และลดโอกาสพลาดในการวิเคราะห์ข้อมูล
1.เลือกช่วงข้อมูลที่ต้องการ

2.คลิกขวา → เลือก Conditional formatting

3.ตั้งเงื่อนไข เช่น “น้อยกว่า 50” → เลือกสี → กด Done

หลังจากทำความรู้จักกับการใช้งาน Google Sheets เบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดรูปแบบเซลล์ การกรอกข้อมูล หรือการสร้างตารางอย่างเป็นระบบแล้ว ขั้นตอนถัดไปที่ช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือการเรียนรู้ “การใช้สูตรเบื้องต้น” เพื่อคำนวณและประมวลผลข้อมูลอย่างอัตโนมัติ
เพียงแค่รู้จักฟีเจอร์พื้นฐานเหล่านี้ร่วมกับการใส่สูตรเบื้องต้น คุณก็สามารถใช้งาน Google Sheets ได้คล่องตัวขึ้นทันที ไม่ว่าจะจัดการข้อมูล ทำตารางคำนวณ หรือจัดทำรายงานต่าง ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นในไม่กี่คลิก