Microsoft Office แต่ละประเภทต่างกันยังไง?

เวลาพูดที่ถึง Microsoft Office หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงแค่ Word, Excel, PowerPoint ที่มักคุ้นเคยกันดี แต่จริง ๆ แล้ว Microsoft Office มีหลายรูปแบบ หลายแพ็กเกจที่ออกแบบมาตอบโจทย์การใช้งานที่ต่างกันออกไปตามความต้องการของผู้ใช้ โดยแบ่งออกได้ 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

ประเภทของ Microsoft Office

1. Microsoft Office แบบซื้อขาด (One-Time Purchase)

เป็นเวอร์ชันที่ซื้อครั้งเดียวและใช้งานได้ตลอด โดยไม่ต้องคอยจ่ายรายปีหรือรายเดือน เช่น

  • Office Home & Student 2021 – Word, Excel, PowerPoint, OneNote
  • Office Home & Business 2021 – เพิ่ม Outlook เข้ามา
  • Office Professional 2021 – ครบทุกแอป (รวม Access และ Publisher ด้วย)

ข้อดี

  • ไม่ต้องคอยจ่ายค่าสมาชิกอยู่ตลอด

ข้อจำกัด

  • ไม่มีการอัปเดตฟีเจอร์ใหม่หลังจากซื้อ (มีอัปเดตแค่แพตช์ความปลอดภัย)
  • ใช้ได้กับอุปกรณ์เดียวตามลิขสิทธิ์ (License) ที่ซื้อ
  • ไม่มี OneDrive สำหรับเก็บไฟล์บนคลาวด์
  • ไม่รองรับฟีเจอร์ใหม่ ๆ เช่น ฟีเจอร์ทำงานร่วมกัน (Co-Authoring) แบบเรียลไทม์

เหมาะกับ

  • ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่อยากคอยจ่ายเงินทุกเดือนหรือปี
  • คนที่ไม่ได้เปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ในการใช้งานบ่อย
  • ผู้ที่เน้นใช้งาน Word, Excel และ PowerPoint เป็นหลัก

2. Microsoft 365 (แบบสมัครสมาชิกรายเดือน/รายปี)

ระบบสมัครสมาชิกที่จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปี สามารถใช้งานใช้งานได้หลายอุปกรณ์ และมีการอัปเดตฟีเจอร์ใหม่อยู่เสมอ รวมถึงพื้นที่ OneDrive และบริการคลาวด์อื่น ๆ

ข้อดี

  • ได้ Office ครบทุกแอป พร้อม Outlook และ OneDrive 1 TB/ผู้ใช้ (สูงสุด 6 ผู้ใช้)
  • อัปเดตฟีเจอร์ใหม่อัตโนมัติ (เช่น Copilot AI, Loop, Excel Data Types)
  • ติดตั้งได้หลายอุปกรณ์ทั้ง PC, Mac, iPad และมือถือ
  • ใช้งานร่วมกันในทีมแบบเรียลไทม์ (Co-Authoring, Comments, Chat)

ข้อจำกัด

  • ต้องจ่ายเงินอยู่เสมอ หากหยุดจ่ายจะใช้งานแอปไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ
  • ขึ้นอยู่กับอินเทอร์เน็ตในบางฟีเจอร์ เช่น Autosave, Sync และ OneDrive

เหมาะกับ

  • นักเรียน นักศึกษา ฟรีแลนซ์ที่ใช้งานหลายอุปกรณ์
  • ผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นและ Cloud
  • ทีมงานหรือองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกันตลอดเวลา

3. Microsoft Office Online (ฟรี)

ใช้งาน Office ฟรีผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เพียงแค่มีบัญชี Microsoft ก็ใช้งาน Word, Excel และ PowerPoint ได้

ข้อดี

  • ใช้งานได้ฟรี
  • เข้าถึงจากอุปกรณ์ใดก็ได้โดยไม่ต้องติดตั้งแอป
  • ใช้ทำงานร่วมกันเบื้องต้นได้

ข้อจำกัด

  • ไม่มีแอปบนเครื่อง ใช้งานได้เฉพาะในเบราว์เซอร์
  • มีฟีเจอร์ที่จำกัด เช่น ใช้ Mail Merge หรือ PivotTable ขั้นสูงไม่ได้
  • ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอด

เหมาะกับ

  • นักเรียน นักศึกษาที่มีงบจำกัด
  • ผู้ใช้งานทั่วไปที่เน้นใช้งานเอกสารพื้นฐาน
  • คนที่ต้องแก้เอกสารเร็ว ๆ จากอุปกรณ์อื่น

4. Microsoft Office แบบองค์กร (Volume Licensing / LTSC)

เวอร์ชันที่ออกแบบมาสำหรับองค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ที่ต้องการซื้อไลเซนส์เป็นชุดจำนวนมาก เช่น Office LTSC 2021, Office 365 Enterprise (E1, E3, E5)

ข้อดี

  • ซื้อ License จำนวนมากได้ในราคาประหยัด
  • รองรับการปรับแต่ง/ติดตั้งแบบรวมศูนย์ผ่านเครื่องมือ IT
  • มีตัวเลือกแบบไม่มีฟีเจอร์คลาวด์ (LTSC) สำหรับเครื่องออฟไลน์

ข้อจำกัด

  • ต้องมีแผนจัดการไลเซนส์และ IT ภายใน
  • LTSC ไม่มีฟีเจอร์ใหม่ตลอดอายุการซัพพอร์ต
  • การจัดซื้อ-ต่ออายุอาจซับซ้อนกว่าแบบทั่วไป

เหมาะกับ

  • องค์กรที่มีหลายเครื่องและต้องการความเสถียร
  • หน่วยงานราชการ โรงงาน ระบบ POS ที่ไม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

Office แต่ละประเภท ใช้ License แบบไหน?

เวลาจะซื้อ Microsoft Office นอกจากเลือกประเภทของซอฟต์แวร์แล้ว สิ่งที่ต้องคิดอีกอย่างก็คือ License (สิทธิการใช้งาน) เพราะ License แต่ละแบบจะเป็นตัวกำหนดทั้งจำนวนเครื่องที่ติดตั้งได้ และสิทธิ์ในการโอนย้าย License โดยสามารถแบ่งประเภทของ License ได้ดังนี้

1. OEM License

License ที่ติดมากับคอมพิวเตอร์ใหม่ ซึ่งมักถูกติดตั้งล่วงหน้ามาแล้วจากโรงงาน (เช่น Dell, HP, Lenovo)

ข้อดี

  • ราคาถูกกว่าซื้อแยก
  • ใช้งานได้ทันทีเมื่อตั้งค่าเครื่อง

ข้อจำกัด

  • License จะติดอยู่กับเครื่องนั้น ๆ โดยถ้าเครื่องเสียหรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ จะไม่สามารถโอน License ไปยังเครื่องอื่นได้
  • ซื้อแยกมาลงเครื่องเองไม่ได้

เหมาะกับ

  • ผู้ที่ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่พร้อมใช้ Office แบบพื้นฐาน
  • คนที่ไม่คิดจะอัปเกรดหรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ในเร็ว ๆ นี้

2. Retail License

License ที่ขายแยกเป็นกล่อง หรือแบบดาวน์โหลด เมื่อซื้อมาแล้วสามารถติดตั้งเองได้

ข้อดี

  • โอนย้าย License ได้ เมื่อต้องการเปลี่ยนเครื่อง
  • มีการซัพพอร์ตจาก Microsoft โดยตรง

ข้อจำกัด

  • ราคาค่อนข้างสูงกว่าแบบ OEM
  • License ใช้ติดตั้งหรือโอนย้ายได้ครั้งละ 1 เครื่อง

เหมาะกับ

  • ผู้ใช้งานทั่วไปที่เปลี่ยนอุปกรณ์ทำงานบ่อย
  • คนที่ต้องการ  License ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน

3. Volume License

License จำนวนมากในราคาพิเศษ สำหรับองค์กร โรงเรียน หรือหน่วยงานรัฐบาล พร้อมการจัดการ License แบบรวมศูนย์

ข้อดี

  • ติดตั้งได้หลายเครื่อง (ตามจำนวน License ที่ซื้อ)
  • ควบคุมการใช้งานได้ง่าย ผ่านระบบ Key Management Services (KMS) หรือ Multiple Activation Key (MAK)
  • มีรุ่นพิเศษ เช่น Office LTSC ที่ไม่มีฟีเจอร์ Cloud

ข้อจำกัด

  • มีจำนวนการซื้อขั้นต่ำ (ขึ้นอยู่กับนโยบาย Microsoft ในแต่ละประเทศ)
  • การตั้งค่า และการจัดการต้องใช้ความรู้ด้าน IT มากขึ้น

เหมาะกับ

  • องค์กรขนาดกลางถึงใหญ่
  • บริษัทที่มีนโยบายด้าน IT เฉพาะตัว

4. Subscription License

License แบบจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนหรือรายปี (เช่น Microsoft 365) โดยจะได้รับการอัปเดตฟีเจอร์ล่าสุด และบริการ Cloud (OneDrive, Teams, Exchange)

ข้อดี

  • ใช้งานข้ามอุปกรณ์ได้ (PC, Mac, มือถือ)
  • ได้พื้นที่เก็บไฟล์บน OneDrive (อย่างน้อย 1TB/คน)
  • มีฟีเจอร์ใหม่มาให้ใช้เรื่อย ๆ เช่น Copilot AI, Loop

ข้อจำกัด

  • ต้องต่ออายุเรื่อย ๆ
  • ถ้าเลิกจ่าย จะไม่สามารถใช้ซอฟต์แวร์ได้เต็มรูปแบบ (เข้าสู่โหมด Read Only)

เหมาะกับ

  • ฟรีแลนซ์ ธุรกิจขนาดเล็กถึงใหญ่
  • คนที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดเวลา
  • ผู้ที่ต้องใช้งานหลายอุปกรณ์พร้อมกัน

สรุปแล้วไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน ฟรีแลนซ์ คนทำงาน หรือองค์กรใหญ่ ก็สามารถเลือกใช้ Office ที่เหมาะกับการใช้งานและงบประมาณของตัวเองได้ไม่ยาก หรือหากต้องการสมัครใช้งาน Microsoft 365 สามารถเลือกใช้บริการจาก hostatom ที่มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและดูแลระบบอย่างครบวงจร

Was this article helpful?

Related Articles