ตั้งค่าการอัปเดตใน WordPress ยังไงให้เว็บไซต์ปลอดภัยและไม่พัง!

การอัปเดต WordPress นับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เว็บไซต์ของเราปลอดภัย เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ และทำงานได้อย่างราบรื่น แต่วิธีการอัปเดตนั้นก็มีอยู่มีหลายแบบ โดยในบทความนี้เราจะไปดูกันว่าเราสามารถจัดการการอัปเดตอะไรยังไงได้บ้าง

ทำไมเราถึงต้องคอยอัปเดต WordPress อยู่เสมอ?

  • เพิ่มความปลอดภัย – อุดช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจโดนแฮก
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพ – ทำให้เว็บโหลดได้เร็วหรือทำงานได้ดีขึ้น
  • ฟีเจอร์ใหม่ๆ – มีระบบใหม่ๆ ทั้งจากระบบหลัก ธีม และปลั๊กอิน ให้ลองใช้อยู่เสมอ
  • แก้บั๊กต่างๆ – การอัปเดตอาจช่วยแก้ปัญหาแปลกๆ  ที่เจอระหว่างใช้งานได้

การอัปเดตใน WordPress มีอะไรบ้าง?

1. ระบบ WordPress (Core)

  • เวอร์ชันใหญ่ (Major) – เป็นการอัปเดตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะด้านฟีเจอร์หลักของระบบ ไปจนถึงโครงสร้างภายในที่สำคัญ (เช่น การอัปเดตเวอร์ชันจาก 5.9 เป็น 6.0 หรือ 6.6 เป็น 6.7) ซึ่งการอัปเดตแบบนี้มักจะทำให้เว็บพังได้ เนื่องจากธีมหรือปลั๊กอินที่ใช้บางตัวยังไม่ได้มีการอัปเดตให้รองรับกับระบบใหม่
  • เวอร์ชันย่อย (Minor) – เป็นการอัปเดตเล็กๆ น้อยๆ ส่วนมากจะเป็นการแก้บั๊ก อัปเดตความปลอดภัย หรือการเพิ่มประสิทธิภาพ (เช่น การอัปเดตเวอร์ชันจาก 6.7.1 ไป 6.7.2) ซึ่งแทบจะไม่มีปัญหากับเว็บเวลาที่อัปเดต

2. ธีม (Theme)

อัปเดตธีมที่ใช้อยู่ให้ปลอดภัย รองรับฟีเจอร์ใหม่ของระบบที่เพิ่มเข้ามา หรือแม้แต่การปรับปรุงดีไซน์ของธีม

3. ปลั๊กอิน (Plugin)

ส่วนที่มีการอัปเดตอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในด้านความปลอดภัย และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

ตั้งค่าการอัปเดตใน WordPress ได้ยังไงบ้าง?

1. ตั้งค่าผ่านหลังบ้าน (Dashboard) ของ WordPress

สามารถเห็นได้ว่ามีระบบ ธีม หรือปลั๊กอินใดบ้างที่มีเวอร์ชันใหม่รอให้อัปเดตอยู่ โดยตัวระบบสามารถกำหนดให้อัปเดตอัตโนมัติเฉพาะเวอร์ชันใหญ่หรือย่อยได้ ส่วนธีมและปลั๊กอินสามารถเลือกอัปเดตทีละตัวหรือทั้งหมดพร้อมกันได้

2. ตั้งค่าด้วยปลั๊กอิน

หากคุณต้องการตั้งค่าการอัปเดตทุกอย่างใน WordPress แบบครบจบในที่เดียว เราขอแนะนำปลั๊กอิน Easy Updates Manager ที่จะช่วยให้การอัปเดต WordPress ของคุณเป็นเรื่องง่ายๆ

3. ตั้งค่าในหน้าธีม/ปลั๊กอิน

ใน WordPress เวอร์ชัน 5.5 ขึ้นไป คุณสามารถตั้งค่าธีมหรือปลั๊กอินให้อัปเดตเวอร์ชันใหม่ได้โดยอัตโนมัติ

4. ตั้งค่าผ่านไฟล์ wp-config.php

สำหรับคนที่มีความรู้ทางด้านโค้ดดิ้งอยู่บ้าง สามารถเพิ่มโค้ดเหล่านี้ลงในไฟล์ wp-config.php ได้ เช่น

กรณีที่ต้องการให้อัปเดตระบบของ WordPress โดยอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันหลักหรือย่อย

define( 'WP_AUTO_UPDATE_CORE', true );

อัปเดตอัตโนมัติเฉพาะเวอร์ชันย่อย

define( 'WP_AUTO_UPDATE_CORE', minor );

ปิดการอัปเดตระบบของ WordPress โดยอัตโนมัติ

define( 'WP_AUTO_UPDATE_CORE', false );

หรือปิดการอัปเดตอัตโนมัติทั้งหมด

define( 'AUTOMATIC_UPDATER_DISABLED', true );

คำแนะนำในการอัปเดต

  • ควรมีการ Backup ข้อมูลก่อนดำเนินการอัปเดตอยู่เสมอ โดยเฉพาะในการอัปเดตเวอร์ชันใหญ่ หรือปลั๊กอินสำคัญ
  • หากเว็บไซต์มีขนาดใหญ่ ให้ลองทำใน staging ดูก่อน เพื่อป้องกันเว็บพังจากปลั๊กอินที่ไม่เข้ากับอัปเดตใหม่
  • ลองตรวจสอบเว็บไซต์แต่ละหน้าหลังจากอัปเดตเสร็จ ว่ายังแสดงผลได้ปกติหรือไม่

สรุปแล้วควรตั้งค่ายังไงบ้าง?

ส่วนที่อัปเดตการอัปเดตที่แนะนำ
WordPress Core⚠️ อัปเดตเองในเวอร์ชันใหญ่ (Major)
✅ ตั้งเป็นอัปเดตอัตโนมัติในเวอร์ชันย่อย (Minor)
Themes🔎 ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของธีมที่ใช้
Plugins✅ ตั้งเป็นอัปเดตอัตโนมัติในปลั๊กอินพื้นฐาน
⚠️ อัปเดตเองหากเป็นปลั๊กอินสำคัญ

หวังว่าบทความนี้จะสามารถช่วยให้คุณสามารถตั้งค่าการอัปเดตให้กับเว็บไซต์ของคุณได้อย่างเหมาะสมนะ หากมีปํญหาหรือข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้งาน WordPress  สามารถติดต่อมายังทีมงานของ hostatom ที่พร้อมช่วยเหลือคุณตลอด 24 ชั่วโมง

Was this article helpful?

Related Articles